ทีมหมอครอบครัว

142985817343-1200x627

ทีมหมอครอบครัว

“ทีมหมอครอบครัว” หรือ Family care team เป็นการปฏิรูปการดูแลสุขภาพในรูปแบบใหม่ ที่ต่อยอดเพิ่มเติมจากฐานการทำงานเดิมของระบบบริการสุขภาพของไทย และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาให้ระบบสุขภาพอำเภอ (DHS) เข้มแข็ง โดยมีสุขภาพของคนในครอบครัวเป็นเป้าหมายและจุดศูนย์กลางในการทำงานร่วมกัน อันจะนำมาสู่การทำให้ประชาชนและครอบครัวได้รับการดูแลด้านสุขภาพ มีความมั่นใจ เชื่อใจ ไว้ใจ โดยมีทีมหมอครอบครัวเหมือนเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติของครอบครัว เข้าไปบริการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกครัวเรือนอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในระดับการบริการปฐมภูมิ ทีมดังกล่าวจะมาจากบุคลากรทางด้านสุขภาพในระดับต่างๆ ตั้งแต่ ชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด มาทำงานร่วมกับบุคลากรทางสาธารณสุขและแพทย์ เพื่อเป็นทีมที่สามารถดูแลและส่งต่อปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างใกล้ชิด ทันท่วงที เสมือนมีหมอประจำครอบครัวอยู่ใกล้บ้าน และเข้าไปมีส่วนในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว เป้าหมาย คือให้ คนไทย มีทีมหมอครอบครัว ประจำตัวทุกครัวเรือน  เพื่อ

  • มีทีมหมอครอบครัว ดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ทุกครอบครัว ประดุจญาติมิตร
  • ให้การดูแลครอบคลุมทุกมิติ รักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู แบบองค์รวม ต่อเนื่องและผสมผสาน
  • ให้การดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งในหน่วยบริการ และมีทีมงานเยี่ยมถึงบ้านอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง
  • มีการประสานงานรับ-ส่งต่อผู้ป่วยในทุกระดับของการบริการอย่างใกล้ชิดเหมาะสม ตั้งแต่ ครอบครัว ชุมชน รพ.สต. และรพ.ทุกระดับ
  • ให้การดูแลครอบครัวที่มีประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างครอบคลุมและครบถ้วน
  • ลดทุกข์ เพิ่มสุข ให้แก่ครอบครัว และ ชุมชน  เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ทีมหมอครอบครัว คือ ทีมสหวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึง อสม. อปท. ชุมชน ภาคประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพของประชาชน มีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพแต่ละครอบครัวตามพื้นที่รับผิดชอบ ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ ให้การดูแลที่จำเป็น ดูแลปัญหา กาย จิต สังคม แก่ครอบครัว ชุมชน  อย่างต่อเนื่อง เป็นองค์รวมและมีส่วนร่วมกับทุกภาคีสุขภาพ รวมทั้งการประสานการส่งต่อไปยังหน่วยบริการทุกระดับอย่างใกล้ชิดและเหมาะสมกับผู้ป่วย

องค์ประกอบทีมหมอครอบครัว มี 3 ระดับ คือ

  • ระดับอำเภอ ประกอบด้วย แพทย์ และสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์เวชศาสตร์/แพทย์เฉพาะทาง/แพทย์ทั่วไป/ทันตแพทย์/เภสัชกร/พยาบาลเวชปฎิบัติ/พยาบาลวิชาชีพ/กายภาพบำบัด/นักสังคมสงเคราะห์/นักสุขภาพจิต ในโรงพยาบาล และทีมจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยงให้การสนับสนุนวิชาการ พัฒนาศักยภาพทางคลินิกทีมตำบล ชุมชน รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรทุกประเภทที่จำเป็น เพื่อให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่ดีที่สุดกับครอบครัวในเขตรับผิดชอบ ประสานงานส่งต่อและติดตามความคืบหน้าของผู้ป่วยในการไปรับบริการสุขภาพยังสถานบริการในทุกระดับ
  • ระดับตำบล ประกอบด้วย บุคลากรใน รพ.สต. เช่น พยาบาลเวชปฏิบัติ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข ทันตาภิบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหมอครอบครัว ดูแลปัญหาสุขภาพด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ประสานส่งต่อผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถ มุ่งเน้นงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคให้แก่ครอบครัวชุมชน เชื่อมประสานกับองค์กรท้องถิ่น ภาครัฐอื่นๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ขจัดทุกข์ เพิ่มสุข ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มพลังอำนาจในการพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชน
  • ระดับชุมชน ประกอบด้วย ภาคประชาชนในพื้นที่นั้น เช่น อสม. อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา นักบริบาล แกนนำครอบครัว มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเองหรือการให้การบริบาลเบื้องต้น ทำหน้าที่ ประดุจญาติของผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในยามที่ต้องไปรับการรักษาพยาบาลที่รพสต.หรือที่โรงพยาบาล อีกทั้งช่วยเหลือดูแลขจัดทุกข์ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัว ชุมชน

          ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว มีผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่สุขภาพไม่ดี นอนติดเตียง ต้องพึ่งผู้ดูแล และมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังไร้ลูกหลานดูแลเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน มีผู้สูงอายุทั้งหมด จำนวน 9.1 ล้านคน (ร้อยละ 14 ของประชากร) ผู้สูงอายุติดเตียงจำนวน 163,860 คน (ร้อยละ 1.8 ของผู้สูงอายุ) ผู้พิการ จำนวน 1,580,525 คน ผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative care) จำนวน 27,785 คน รวมทั้ง 3 กลุ่ม จำนวน 1,785,942 คน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มแรกที่ “ทีมหมอครอบครัว” จะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้คนเหล่านั้นมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่มา : http://mcot-web.mcot.net/fm1005/content.php?id=5539e77ebe047090f28b468d#.V7skhvmLTIU

:http://goodhealth.moph.go.th/blog/index.php?pid=1&user=1&news=561